การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน ได้มีการนำมาใช้ในหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งในด้านการศึกษา ด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ด้านการแพทย์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ การทำงาน การศึกษาหาความรู้ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันดีขึ้น นอกจากนี้หน่วยงานราชการต่างๆ ก็นำเทคโนโลยีสารสนเทศและ ระบบคอมพิวเตอร์ เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการติดต่อประสานงานกับทางราชการ และในธุรกิจเอกชนทางด้านการโรงแรม และการท่องเที่ยว ก็ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และบริการลูกค้าผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วทันเหตุการณ์
ประยุกต์ใช้ในงานด้านการศึกษา
เทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้สำหรับการเรียนการสอน เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่าง สอนด้วยสื่ออุปกรณ์ที่ทันสมัย ห้องเรียนสมัยใหม่ มีอุปกรณ์วิดีโอโปรเจคเตอร์ (Video Projector)มีเครื่องคอมพิวเตอร์ มีระบบการอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบต่าง ๆ รูปแบบของสื่อที่นำมาใช้ในด้านการเรียนการสอน ก็มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำมาใช้ เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน อิเล็กทรอนิกส์บุค วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ ระบบวิดีโอออนดีมานด์ การสืบค้นข้อมูลในคอมพิวเตอร์ และระบบอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
- คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นการนำเอาเทคโนโลยี รวมกับการออกแบบโปรแกรมการสอน มาใช้ช่วยสอน ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่าบทเรียน CAI ( Computer - Assisted Instruction ) การจัดโปรแกรมการสอน โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ในปัจจุบันมักอยู่ในรูปของสื่อประสม (Multimedia) ซึ่งหมายถึงนำเสนอได้ทั้งภาพ ข้อความ เสียง ภาพเคลื่อนไหวฯลฯ โปรแกรมช่วยสอนนี้เหมาะกับการศึกษาด้วยตนเอง และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถโต้ตอบ กับบทเรียนได้ตลอด จนมีผลป้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนรู้ บทเรียนได้อย่างถูกต้อง และเข้าใจในเนื้อหาวิชาของบทเรียนนั้นๆ
- การเรียนการสอนโดยใช้เว็บเป็นหลัก เป็นการจัดการเรียน ที่มีสภาพการเรียนต่างไปจากรูปแบบเดิม การเรียนการสอนแบบนี้ อาศัยศักยภาพและความสามารถของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการนำเอาสื่อการเรียนการสอน ที่เป็นเทคโนโลยี มาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอน ให้เกิดการเรียนรู้ การสืบค้นข้อมูล และเชื่อมโยงเครือข่าย ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกสถานท ี่และทุกเวลา การจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-based Instruction) การฝึกอบรมผ่านเว็บ (Web-based Trainning) การเรียนการสอนผ่านเวิล์ดไวด์เว็บ (www-based Instruction) การสอนผ่านสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) เป็นต้น
- อิเล็กทรอนิกส์บุค คือการเก็บข้อมูลจำนวนมากด้วยซีดีรอม หนึ่งแผ่นสามารถเก็บข้อมูลตัวอักษรได้มากถึง 600 ล้านตัวอักษร ดังนั้นซีดีรอมหนึ่งแผ่นสามารถเก็บข้อมูลหนังสือ หรือเอกสารได้มากกว่าหนังสือหนึ่งเล่ม และที่สำคัญคือการใช้กับคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถเรียกค้นหาข้อมูลภายในซีดีรอม ได้อย่างรวดเร็วโดยใช้ดัชนี สืบค้นหรือสารบัญเรื่อง ซีดีรอมจึงเป็นสื่อที่มีบทบาทต่อการศึกษาอย่างยิ่ง เพราะในอนาคตหนังสือต่าง ๆ จะจัดเก็บอยู่ในรูปซีดีรอม และเรียกอ่านด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่าอิเล็กทรอนิกส์บุค ซีดีรอมมีข้อดีคือสามารถจัดเก็บ ข้อมูลในรูปของมัลติมีเดีย และเมื่อนำซีดีรอมหลายแผ่นใส่ไว้ในเครื่องอ่านชุดเดียวกัน ทำให้ซีดีรอมสามารถขยายการเก็บข้อมูลจำนวนมากยิ่งขึ้นได้
รูปแสดงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในงานด้านการศึกษา
- วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ หมายถึงการประชุมทางจอภาพ โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างบุคคล หรือคณะบุคคลที่อยู่ต่างสถานที่ และห่างไกลกันโดยใช้สื่อทางด้านมัลติมีเดีย ที่ให้ทั้งภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง เสียง และข้อมูลตัวอักษร ในการประชุมเวลาเดียวกัน และเป็นการสื่อสาร 2 ทาง จึงทำให้ ดูเหมือนว่าได้เข้าร่วมประชุมร่วมกันตามปกติ ด้านการศึกษาวิดีโอเทคเลคอนเฟอเรนซ์ ทำให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ผ่านทางจอภาพ โทรทัศน์และเสียง นักเรียนในห้องเรียน ที่อยู่ห่างไกลสามารถเห็นภาพและเสียง ของผู้สอนสามารถเห็นอากับกิริยาของ ผู้สอน เห็นการเคลื่อนไหวและสีหน้าของผู้สอนในขณะเรียน คุณภาพของภาพและเสียง ขึ้นอยู่กับความเร็วของช่องทางการสื่อสาร ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างสองฝั่งที่มีการประชุมกัน ได้แก่ จอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ ลำโพง ไมโครโฟน กล้อง อุปกรณ์เข้ารหัสและถอดรหัส ผ่านเครือข่ายการสื่อสารความเร็วสูงแบบไอเอสดีเอ็น (ISDN)
รูปแสดงการเชื่อมต่อระบบวิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์
- ระบบวิดีโอออนดีมานด์ (Video on Demand) เป็นระบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมนำมาใช้ ในหลายประเทศเช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง ทำให้ผู้ชมตามบ้านเรือนต่าง ๆ สามารถเลือกรายการวิดีทัศน์ ที่ตนเองต้องการชมได้โดยเลือกตามรายการ (Menu) และเลือกชมได้ตลอดเวลา วิดีโอออนดีมานด์ เป็นระบบที่มีศูนย์กลาง การเก็บข้อมูลวีดิทัศน์ไว้จำนวนมาก โดยจัดเก็บในรูปแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ (Video Server) เมื่อผู้ใช้ต้องการเลือกชมรายการใด ก็เลือกได้จากฐานข้อมูลที่ต้องการ ระบบวิดีโอ ออนดีมานด์จึงเป็นระบบที่จะนำมาใช้ ในเรื่องการเรียนการสอนทางไกลได้ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียน ในสิ่งที่ตนเองต้องการเรียนหรือสนใจได้
- การสืบค้นข้อมูล (Search Engine) ปัจจุบันได้มีการกล่าวถึงระบบการสืบค้นข้อมูลกันมาก แม้แต่ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ก็มีการประยุกต์ใช้ไฮเปอร์เท็กซ์ในการสืบค้นข้อมูล จนมีโปรโตคอลชนิดพิเศษที่ใช้กัน คือ World Wide Web หรือเรียกว่า www. โดยผู้ใช้สามารถเรียกใช้โปรโตคอล http เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบไฮเปอร์เท็กซ์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ไฮเปอร์เท็กซ์มีลักษณะเป็นแบบมัลติมีเดีย เพราะสามารถสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เก็บได้ทั้งภาพ เสียง และตัวอักษร มีระบบการเรียกค้นที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้โครงสร้างดัชนีแบบลำดับชั้นภูมิ โดยทั่วไป ไฮเปอร์เท็กซ์จะเป็นฐานข้อมูลที่มีดัชนีสืบค้นแบบเดินหน้า ถอยหลัง และบันทึกร่องรอยของการสืบค้นไว้ โปรแกรมที่ใช้ในการสร้างไฮเปอร์เท็กซ์มีเป็นจำนวนมาก ส่วนโปรแกรมที่มีชื่อเสียงได้แก่ HTML Compossor FrontPage Marcromedia DreaWeaverเป็นต้น ปัจจุบันเราใช้วิธีการสืบค้นข้อมูล เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบในการทำเอกสารรายงานต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
รูปแสดงการสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซค์ Google
- อินเทอร์เน็ต คือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายย่อย และเครือข่ายใหญ่สลับซับซ้อนมากมาย เชื่อมต่อกันมากกว่า 300 ล้านเครื่องในปัจจุบัน โดยใช้ในการติดต่อสื่อสาร ข้อความรูปภาพ เสียงและอื่น ๆ โดยผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่มีผู้ใช้งานกระจายกันอยู่ทั่วโลก ปัจจุบันได้มีการนำระบบอินเทอร์เน็ต เข้ามาใช้ในวงการศึกษากันทั่วโลก ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก
ประยุกต์ใช้ในงานทะเบียนของสถานศึกษา
- งานรับมอบตัว ทำหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานที่นักศึกษานำมารายงานตัว จากนั้นก็จัดเก็บประวัติภูมิหลังนักศึกษา เช่น ภูมิลำเนา บิดามารดา ประวัติการศึกษา ทุนการศึกษา ไว้ในแฟ้มเอกสารข้อมูลประวัตินักศึกษา
- งานทะเบียนเรียนรายวิชา ทำหน้าที่จัดรายวิชาที่ต้องเรียนให้กั บนักศึกษา ในแต่ละภาคเรียนทุกชั้นปี ตามแผนการเรียนของแต่ละแผนก แล้วจัดเก็บไว้ในแฟ้มข้อมูลผลการเรียน
- งานประมวลผลการเรียน ทำหน้าที่นำผลการเรียนจากอาจารย์ผู้สอนมาประมวลในแต่ละภาคเรียน จากนั้นก็จัดเก็บไว้ในแฟ้มเอกสารข้อมูลผลการเรียน และแจ้งผลการเรียนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
- งานตรวจสอบผู้จบการศึกษา ทำหน้าที่ตรวจสอบรายวิชา และผลการเรียน ที่นักศึกษาเรียนตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งจบหลักสูตร จากแฟ้มเอกสาร ข้อมูลผลการเรียน ว่าผ่านเกณฑ์การจบหรือไม่
- งานส่งนักศึกษาฝึกงาน ทำหน้าที่หาข้อมูลจากสถานที่ฝึกงาน ในแต่ละแห่งว่าสามารถรองรับจำนวน นักศึกษาที่จะฝึกงานในรายวิชาต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนเท่าใด จากนั้นก็จัดนักศึกษา ออกฝึกงานตามรายวิชา ให้สอดคล้องกับจำนวนที่สถานประกอบการต้องการ
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
ปัจจุบันประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในวงการศึกษาเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของอุปกรณ์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทต่างๆ อาทิเช่น ดาวเทียมสื่อสาร ใยแก้วนำแสง คอมพิวเตอร์ ซีดีรอม มัลติมีเดีย อินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ก่อให้เกิดระบบเช่น Computer-Aided-Instruction (CAI) และ Computer-Aided-Learning (CAL) ทั้งในระดับท้องถิ่นและทางไกล
โดยภาพรวมแล้ว เราสามารถจำแนกคุณลักษณะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการศึกษาในมิติที่สำคัญ ๆ ดังนี้
- เทคโนโลยีสารสนเทศลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตอบสนองนโยบายการศึกษาที่เป็น “การศึกษาเพื่อประชาชนทุกคน” (Education for All) อันจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม (Social Equity) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมทางด้านการศึกษา ตัวอย่างที่สำคัญ คือ ผลของการติดตั้งจานดาวเทียมที่มีต่อโรงเรียนห่างไกลในชนบทที่ด้อยโอกาสให้มี “โอกาส” เท่าเทียมกับโรงเรียนในท้องถิ่นที่เจริญกว่าอย่างน้อยในรูปแบบที่เป็นไปได้ในเชิงกายภาพ รวมทั้งผลของการที่นักเรียนในชนบทมีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลของโลก หรืออีกนัยหนึ่ง “ห้องสมุดโลก” ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือการที่เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนพิการสามารถมีโอกาสรับการศึกษาในสิ่งแวดล้อมของคนปกติ และยังเปิดโอกาสให้คนพิการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเรียนรู้และเพื่อการประกอบอาชีพอีกด้วย เป็นต้น
- เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การที่นักเรียนได้ช้าสามารถใช้เวลาเพิ่มเติมกับบทเรียนด้วยสื่อซีดี-รอม เพื่อตามให้ทันเพื่อนนักเรียน ในขณะที่นักเรียนที่รับข้อมูลได้ปกติสามารถเพิ่มศักยภาพในการ “เรียนรู้ด้วยตนเอง” (independent learning) ได้มากขึ้นจากความหลากหลายของเนื้อหาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ผลจากเทคโนโลยีสานสนเทศยังก่อให้เกิดนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ ๆ เช่น วิธีการ “Constructionism” ของศาสตราจารย์ Seymour Papert ที่ใช้หลักการที่ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ มีความใส่ใจ (engagement) กับการสร้างสิ่งที่มีความหมาย อันเป็นที่มาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ LEGO Logo ซึ่งผสมผสานความน่าสนใจ ในของเด็กเล่นกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่งเสริมให้เด็กสร้าง (build) และควบคุม (control) สิ่งก่อสร้างนั้นซึ่งเป็นผลให้เกิด “ความรู้” ในตัวของเด็กได้ทั้งนี้โดยการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีที่คำนึงถึงโอกาสของเด็กในการเลือก (choice) ความหลากหลาย (diversity) และความเป็นมิตร (congeniality) นอกจากนี้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับโลกอย่างระบบWorld Wide Web ในอินเทอร์เน็ตยังเปิดโอกาสในนักเรียน นักศึกษาสามารถพัฒนาคุณภาพของการเรียนรู้จากฐานข้อมูลที่หลากหลายและกว้างขวางที่ระบบฐานข้อมูลหรือห้องสมุดเดิมไม่สามารถรองรับได้
อีกประการหนึ่ง วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศยังทำให้สื่อทางเสียง (audio)สื่อข้อความ(text) สื่อทางภาพ (graphic and video) สามารถผนวกเข้าหากันและนำมาเสนอ (presentation) ได้อย่างมีความน่าสนใจและไม่น่าเบื่อ ไม่ว่าจะดึงข้อมูลจากสื่อที่เก็บข้อมูล เช่นฮาร์ดดิสก์ ซีดี-รอม หรือจากเครือข่ายซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีดิจิทัลและการบีบอัดสัญญาณที่ก้าวหน้าจนทำให้กระทำได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ขึ้นตลอดเวลา ในขณะเดียวกันข้อมูลที่มีประโยชน์ยังสามารถเก็บบันทึกและเรียกใช้ร่วมกันได้จาก “คลังดิจิทัล” (Digital Archive) ในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ประเภท “ความจริงเสมือน” (Virtual Reality) ยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ทางการศึกษาและฝึกอบรมได้เป็นอย่างดี อาทิเช่น การฝึกสอนภาคปฏิบัติทางการแพทย์แก่นักศึกษาแพทย์ หรือการฝึกนักบินในสภาพจำลอง (Flight Simulation) เป็นต้น
- เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการจัดการและบริหารการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากใช้อย่างถูกต้องเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำระบบMIS , EIS , Decision Support System (DSS) เข้ามาช่วยจัดระบบฐานข้อมูลการศึกษา หรือการจัดให้มีเครือข่ายบริหาร on-line ที่ทำให้ระบบการปรับปรุง (update) ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่นอกจากจะช่วยลดงานกระดาษแล้ว ยังทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวางแผนและจัดการทางการศึกษาอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคโนโลยีประเภทอื่นๆ เช่น อินเทอร์เน็ต เพื่อประโยชน์ในงานด้านประชาสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษาการสื่อสารระหว่างผู้บริหารและบุคลากรในส่วนต่างๆ ขององค์กรและภายนอกองค์กร
- นอกจากการใช้เพื่อการศึกษาแล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศ ยังมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมฝึกอบรมอีกด้วย ทั้งในและนอกระบบ ในปี ค.ศ.1994 บริษัทที่มีคนงานมากกว่า 100 คน ในสหรัฐอเมริกาลงทุนกว่า 50 ล้านเหรียญในการฝึกอบรม (industrial training) ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ วิทยากร และการซื้อจากผู้ให้บริการฝึกอบรม บริษัทส่วนใหญ่ใช้เทปวีดิทัศน์ การบรรยายโดยวิทยากร และการฝึกอบรมในสถานที่ทำงาน (on-the-job training)
อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากการฝึกอบรมโดยใช้ Audio tapes , คอมพิวเตอร์เป็นหลัก (Computer-based training : CBT) , วีดิทัศน์ปฏิสัมพันธ์ , Teleconference , Multimedia , CD-ROM มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าสังเกตว่าการฝึกอบรมครูและให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนั้น อาจใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศรวมทั้งการฝึกอบรมทางไกล (Tele-training) ประกอบกับการฝึกอบรมในรูปแบบปกติได้
บทบาทของครูในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อการเรียนการสอน
1) ในยุคสังคมบรรพกาลที่สังคมอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย การสื่อสารและคมนาคมยังมีข้อจำกัด การศึกษาเป็นการเลียนแบบ ทำตามและจดจำจากประสบการณ์ของผู้ใหญ่ บทบาทของครูจึงเป็นผู้จดจำและบอกเล่าให้ผู้เรียนท่องบ่น จดจำและทำตามที่ครูบอก เทคนิควิธีและสื่อต่างๆ จึงเป็นไปเพื่อให้ผู้เรียนจดจำและทำตามได้ง่าย
2) ในยุคสังคมอุตสาหกรรม และ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ระบบสังคมเป็นสังคมกระจุก โดยมากเกิดขึ้นในเมืองขนาดใหญ่ระดับนครและมหานคร วิทยาการต่างๆ มีมากมายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครูไม่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาสาระโดยตรงจากความจำและประสบการณ์ของตนได้ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนไปเป็นนักออกแบบระบบการเรียนการสอน โดยการใช้สื่อโสตทัศน์เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดเนื้อหาสาระแทนการบอกเล่าและเป็นผู้ให้เนื้อหาสาระด้วยตนเอง และ
3) ยุคสังคมข้อมูลข่าวสารอย่างในปัจจุบันและการเรียนการสอนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเก่ง และแก้ไขปัญหาได้ ตลอดจนปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี คนมีความสุข และรักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ครูจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทไปเป็นนักจัดและออกแบบระบบการเรียนการสอน นักจัดการสารสนเทศ นักออกแบบและจัดการแหล่งสื่อการศึกษา นักออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางการศึกษา และเป็นนักแนะแนวและอำนวยความสะดวกการเรียน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ครูในฐานะนักจัดระบบและออกแบบระบบการเรียนการสอน
การจัดระบบและการออกแบบระบบการเรียนการสอน เป็นขอบข่ายงานโดยตรงของนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และเป็นบทบาทของครูที่ต้องการใช้เทคโนโลยีการศึกษาในการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ หรือผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ทั้งนี้เพราะลักษณะของกิจกรรม สื่อ และกระบวนการในรายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในขณะนั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีการจัดระบบ หรือออกแบบระบบการเรียนการสอนให้เหมาะสม การเรียนการสอนนั้นๆ ก็จะประสบกับความล้มเหลวได้ง่าย ครูจึงจำเป็นต้องมีความสามารถและความชำนาญในการวิเคราะห์ระบบการเรียนการสอนเดิม การสังเคราะห์ระบบ การสร้างแบบจำลองระบบเพื่อการสื่อสารและการตรวจสอบ และการทดสอบระบบในเบื้องต้นก่อนนำไปใช้
2. ครูในฐานะนักจัดการสารสนเทศ
สารสนเทศในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน สื่อสารผ่านเครือข่ายและโทรคมนาคม แหล่งสื่อเครือข่ายกระจายสารโลก เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ ล้วนแต่เป็นแหล่งสารสนเทศมากมายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าครูไม่รู้จักแหล่งสารสนเทศเหล่านี้ หรือไม่รู้จักเลือกสรร จัดเก็บ และเตรียมเชื่อมโยงในการใช้ที่เหมาะสมแล้ว การเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการเรียนรู้ด้วยตนเองก็จะประสบกับความล้มเหลว เพราะผู้เรียนจะถูกท่วมทับด้วยสารสนเทศที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือสารสนเทศที่ดึงผู้เรียนออกนอกเส้นทางการเรียน กลายเป็นสื่อนำผู้เรียนออกนอกบทเรียนไป
3. ครูในฐานะนักออกแบบและจัดการแหล่งสื่อการศึกษา
การเรียนการสอนในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารนี้ ครูไม่สามารถจะใช้สื่อโสตทัศน์ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการเรียนรู้ได้เพราะไม่สามารถตอบสนองต่อความคิด ความต้องการ และการสร้างสรรค์ของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน ครูจำเป็นต้องรู้แหล่งสื่อการศึกษา เช่น แหล่งสื่อชุมชนทุกรูปแบบ แหล่งสื่อฐานข้อมูล แหล่งสื่อเว็บไซต์ และแหล่งสื่อฐานความรู้ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ครูจะต้องสามารถจัดระบบการใช้ การสื่อสาร และการเชื่อมโยงกับแหล่งสื่อเหล่านั้น และสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย
4. ครูในฐานะนักออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางการศึกษา
สภาพแวดล้อมทางการศึกษาเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมากสำหรับการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะสภาพแวดล้อม ทางการศึกษาจะทำหน้าที่เป็นสื่อนำเข้าสู่บทเรียน สื่อจุดประกายความคิดของผู้เรียน และเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดทิศทางและขอบข่ายการเรียนของผู้เรียน ครูจำเป็นจะต้องฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ ความสามารถในการออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางสังคม และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของผู้เรียน
5.ครูในฐานะนักแนะแนวและอำนวยความสะดวกการเรียนการแนะแนวการเรียน
เป็นบทบาทสำคัญสำหรับการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะถ้าครูแสดงบทบาทเป็นผู้สอนเมื่อใด การที่จะมุ่งหวังให้ผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาได้ด้วยตนเองก็จะไม่บรรลุเป้าหมายได้ ผู้เรียนก็จะเป็นได้แต่เพียงนักจำและผู้ทำตามคำบอกของครูเท่านั้น การเป็นนักแนะแนวที่มีความสามารถย่อมสามารถวางแผนการเรียนได้ดี สามารถกำหนดขอบเขต และทิศทางการเรียนแต่ละบทเรียนได้แม่นยำ ซึ่งจะเป็นผลให้ครูสามารถจัดการและเตรียมสื่อและเครื่องอำนวยความสะดวกในการเรียนได้เหมาะสมกับบทเรียนด้วย
โดยสรุปแล้ว การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อการเรียนการสอนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ครูจะต้องมีบทบาทในฐานะนักจัดระบบและออกแบบระบบการเรียนการสอน ในฐานะนักจัดการสารสนเทศ ในฐานะนักออกแบบและจัดการแหล่งสื่อการศึกษา ในฐานะนักออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมทางการศึกษา และในฐานะนักแนะแนวและอำนวยความสะดวกการเรียน
กล่าวโดยสรุปคือ ได้มีการนำคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ เกือบทุกวงการ ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปของบุคคลหรือองค์กรใด ๆ ก็ตาม ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในหน่วยงานด้านการศึกษาก็มีความตื่นตัวและเปิดทำการเรียนการสอนในหลักสูตรดังกล่าว ทั้งในระดับ อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา และเป็นสาขาวิชาที่มีนักศึกษา ให้ความสนใจ กันมากเนื่องจากยังมีตลาดแรงงานรองรับมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น